บทที่1 แนะนำสารสนเทศในงานธุรกิจ
สรุป แนะนำระบบสารสนเทศในงานธุรกิจ
ความหมายของระบบสารสนเทศทางธุรกิจ
ผู้บริหารต้องคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี และการตัดสินใจที่ต้องกระทำอย่างสอดคล้องกัน ปัจจุบันผู้บริหารต้องประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและการตัดสินใจทางธุรกิจขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์และสร้างโอกาสในการประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ ผู้บริหารต้องสามารถจัดการกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.กำหนดกลยุทธ์องค์การที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
2.กำหนดแผนงานสารสนเทศระดับองค์การและการดำเนินงาน กำหนดโครงสร้างหน่วยงานสารสนเทศ
3.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศขององค์การ (information system infrastructure) เช่น อุปกรณ์ ชุดคำสั่ง ระบบสื่อสารและจัดการข้อมูล ระบบสำนักงานอัตโนมัติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดศักยภาพ และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของงานสารสนเทศในองค์การ
4.กำหนดรายละเอียดการดำเนินงานภายในองค์การ พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมต่อการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่องค์การ
ระบบสารสนเทศทางธุรกิจ
ระบบสารสนเทศทางธุรกิจ (business information systems) เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของธุรกิจให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยถูกออกแบบและพัฒนาให้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ทางธุรกิจ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ทั้งองค์การ สามารถประสานงานและใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับปฏิบัติงานและระดับบริหาร โดยเราสามารถจำแนกระบบสารสนเทศตามหน้าที่ทางธุรกิจตามหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี (accounting information system)
2.ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (financial information system)
3.ระบบสารสนเทศด้านการตลาด (marketing information system)
4.ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (production and operations information system)
5.ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล
1.1 ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี ปัจจุบันงานของนักบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้มีการพัฒนาชุดคำสั่งสำเร็จรูปหรือชุดคำสั่ง เฉพาะสำหรับช่วยในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความถูกต้องใน การทำงานแก่ผู้ใช้ ทำให้นักบัญชีมีเวลาในการปฏิบัติงานเชิงบริหารมากขึ้น
1.2 ระบบสารสนเทศด้านการเงิน ระบบการเงิน (financial system) เปรียบเสมือนระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกายที่สูบฉีดโลหิตไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนเป็นปกติ ถ้าระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ดี การทำงานของอวัยวะก็บกพร่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดย ตรงต่อระบบร่างกาย ระบบการเงินจะเกี่ยวกับสภาพคล่อง (liquidity) ในการดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินสดหมุนเวียน ถ้าธุรกิจขาดเงินทุน อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งโดยตรงและทางอ้อม
1.3 ระบบสารสนเทศด้านการตลาด การตลาด (marketing) เป็นหน้าที่สำคัญทางธุรกิจ เนื่องจากหน่วยงานด้านการตลาดจะรับผิดชอบในการกระจายสินค้าและบริการไปสู่ลูกค้า ตั้งแต่การศึกษา และวิเคราะห์ความต้องการ การวางแผนและการสร้างความต้องการ ตลอดจนส่งเสริมการขายจนกระทั้งสินค้าถึงมือลูกค้า ปกติการตัดสินใจทางการตลาดจะเกี่ยวข้องกับการจัดส่วนประสมทางการตลาด (marketing mix) หรือ ส่วนประกอบที่ทำให้การดำเนินงานทางการตลาดประสบความสำเร็จ
1.4 ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน การผลิต (production) เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และ พลังงาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการจัดจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยผู้ผลิตต้องพยากรณ์ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไป ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจากการผลิตเข้าสู่สังคมบริการ ทำให้มีการประยุกต์หลักการของการจัดการผลิตกับงานด้านบริการ ซึ่งเราจะเรียกการผลิตในหน่วยบริการว่า “การดำเนินงาน (operations)”
1.5 ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล HRIS หรือระบบสานสนเทศสำหรับบริหารงานบุคคล (personnel information system) หรือ PIS เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การวางแผน การจ้างงาน การพัฒนาและการฝึกอบรม ค่าจ้างเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย ช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลจะมีดังนี้
1.ข้อมูลบุคลากร เป็นข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยประวัติเงินเดือนและ สวัสดิการ เป็นต้น
2.ผังองค์การ แสดงโครงสร้างองค์การ การจัดหน่วยงานและแผนกำลังคน ซึ่งแสดงทั้งปริมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคล
3.ข้อมูลจากภายนอก ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมิใช่ระบบปิดที่ควบคุมและดูแลสมาชิกภายในองค์การเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต้องการข้อมูลจากภายนอกองค์การ เช่น การสำรวจเงินเดือน อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการจัดการและการกระจายสารสนเทศไปยังผู้ใช้ได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งผู้ใช้สามารถนำสารสนเทศไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี ดังนั้นในทุกสาขาอาชีพจำเป็นต้องได้รับข้อมูลและสารสนเทศจากแหล่งต่าง ๆ ที่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนาอาชีพ รวมทั้งพัฒนาสังคมและประเทศชาติ ดังนั้นงานด้านต่าง ๆ จึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนี้
1. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา
การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษานั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อกระจายการศึกษาให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการศึกษา มีดังนี้
1) วีดิทัศน์ตามอัธยาศัย (Video on Demand : VOD) เป็นระบบที่นำภาพวิดีโอมาบันทึกเป็นไฟล์ในระบบคอมพิวเตอร์และนำไฟล์ดังกล่าวมาเผยแพร่ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ผู้เรียนที่อยู่ห่างไกลมีโอกาสเรียนรู้ได้ในเวลาที่สะดวก อีกทั้งยังจัดทำเป็นลักษณะของสื่อผสม (multimedia) ซึ่งสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจเรียนอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งยังจำลองสภาพจริงที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้อย่างชัดเจน ดังนั้นในท้องถิ่นห่างไกลที่ขาดบุคลากรทางการศึกษาเฉพาะทาง ขาดอุปกรณ์การทดลองหรืออุปกรณ์ทางการศึกษาต่าง ๆ ก็ยังคงสามารถเรียนรู้ได้เท่าเทียมกับเด็กในเมือง ตัวอย่างเว็บไซต์ที่นำเสนอวีดิทัศน์ตามอัธยาศัย
วีดิทัศน์ตามอัธยาศัย
2) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (e-books) เป็นหนังสือที่อยู่ในรูปแบบของไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องใช้กระดาษ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถอ่านได้โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ประเภทพกพาและซอฟต์แวร์ที่ใช้อ่าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก เครื่องพีดีเอ และโทรศัพท์มือถือบางรุ่นที่มีระบบปฏิบัติการ Microsoft Mobile นอกจากนี้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ยังสามารถดาวน์โหลดหรืออ่านได้จากเว็บไซด์ทางอินเทอร์เน็ต
หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีบทบาทในวงการการศึกษามากขึ้นด้วยเหตุผล ดังนี้
1. สามารถอ่านได้สะดวกทุกที่ ทุกเวลาที่มีอุปกรณ์พกพาที่สามารถอ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ได้
2. มีสีสันสวยงาม สามารถใส่เสียง ภาพเคลื่อนไหวให้เนื้อหาน่าสนใจ ทำให้ผู้เรียนอ่านและทำความเข้าใจได้ง่าย
3. โปรแกรมที่ใช้ในการสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ใช้งานง่ายและสร้างได้อย่างรวดเร็ว
3) ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (e-library)
หมายถึง แหล่งรวมความรู้ที่มีระบบการทำงานของห้องสมุดให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติ เช่น ระบบบริการยืม–คืนทรัพยากรด้วยรหัสบาร์โค้ด ระบบบริการสืบค้นข้อมูลทรัพยากร และระบบตรวจเช็คสถิติการยืม-คืนทรัพยากร เป็นต้น ดังนั้นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์จะเก็บข้อมูลไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ และให้บริการข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต
ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
4) การเรียนรู้แบบออนไลน์ (e-learning)
เป็นการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนได้เรียนผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเทอร์เน็ต (internet) หรืออินทราเน็ต (intranet) ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสามารถและความสนใจ โดยเนื้อหาในบทเรียนซึ่งอาจประกอบด้วย ข้อความ รูปภาพ เสียง วิดีโอ และมัลติมีเดียอื่น ๆ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีโปรแกรมเว็บเบราว์เซอร์ (web browser) ในการแสดงผลการเรียน การเรียนรู้แบบออนไลน์จะทำให้ผู้เรียน ผู้สอน และเพื่อนร่วมชั้นเรียนทุกคน สามารถติดต่อ ปรึกษา แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกันได้เช่นเดียวกับการเรียนในชั้นเรียนปกติ การเรียนรู้ออนไลน์จึงเป็นการเรียนสำหรับทุกคนที่สามารถเรียนรู้ได้ทุกเวลา และทุกสถานที่ (Learn for all : anyone anywhere and anytime)
การเรียนรู้แบบออนไลน์
2. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านธุรกิจ พาณิชย์และสำนักงาน
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในสาขาธุรกิจ พาณิชย์ และสำนักงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการบริการ ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านธุรกิจ พาณิชย์ และสำนักงาน จำแนกได้ ดังนี้
1) การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce)
คือ การทำกิจกรรมทางธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในทุกช่องทางเช่น อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์ วิทยุ แฟกซ์ เป็นต้น ทั้งในรูปแบบข้อความ เสียง และภาพ โดยกิจกรรมทางธุรกิจจะเน้นการขายสินค้าหรือบริการซึ่งเริ่มตั้งแต่ส่วนของผู้ชื่อ สามารถดำเนินการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ คำนวณเงิน ชำระเงิน รวมถึงการได้รับบริการหลังการขายได้โดยอัตโนมัติ ส่วนของผู้ขาย สามารถนำเสนอสินค้า รับเงินชำระค่าสินค้า ตัดสินค้าจากคลังสินค้า และประสานงานไปยังผู้จัดส่งสินค้า รวมถึงการบริหารหลังการขายได้โดยอัตโนมัติ
กิจกรรมทางธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันนิยมจัดทำรูปแบบของเว็บไซต์ เช่น www. amazon.com เป็นเว็บไซต์การค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุด โดยในช่วงแรกจะขายหนังสือ แต่ปัจจุบันกำลังพัฒนาการขายสินค้าเพิ่มเติมโดยลูกค้าสามารถดาวน์โหลดเพลง ภาพวิดีโอ และหนังสือได้
ปัจจุบันประเทศไทยนิยมใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับธุรกิจประเภท OTOP ซึ่งสามารถประชาสัมพันธ์สินค้าของแต่ละท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักทั่วโลก ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ในระดับหนึ่ง
ประโยชน์ของการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่
1. เพิ่มช่องทางการขายจากช่องทางปกติ ได้แก่ การขายหน้าร้านค้า เป็นการขายผ่านเว็บไซต์ ทำให้เกิดการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริหารขององค์กรได้ทั่วโลก
2. ลดค่าใช้จ่าย เช่น ทำเลที่ตั้ง อาคารประกอบการ โกดังเก็บสินค้า ห้องแสดงสินค้า รวมถึงพนักงานขาย พนักงานแนะนำสินค้า พนักงานต้อนรับลูกค้า เป็นต้น
3. สามารถให้บริการขายได้ตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวันและตลอดเวลา
4. สามารถให้บริการหลังการขายและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับสินค้าได้รวดเร็ว
2) สำนักงานอัตโนมัติ (office automation)
เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ โทรศัพท์ เทเลเท็กซ์ เครื่องเขียนตามคำบอกอัตโนมัติ (dictating machines) เครื่องถ่ายเอกสารแบบหน่วยความจำ เครื่องโทรสาร ฯลฯ มาใช้ช่วยให้การปฏิบัติงานในสำนักงาน เกิดประสิทธิภาพและความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์จะช่วยในเรื่องการประมวลผลข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว การติดต่อสื่อสารภายในสำนักงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และยังช่วยให้ลดปริมาณการใช้กระดาษของสำนักงานได้เป็นอย่างดี
3. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสาธารณสุขและการแพทย์
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสาธารณสุขและการแพทย์มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยที่ดีขึ้น ตลอดจนได้รับการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้น ดังนี้
1) ระบบแพทย์ทางไกล (telemedicine) เป็นโครงการของรัฐบาลที่ยกระดับการให้บริการรักษาผู้ป่วยในท้องถิ่นทุรกันดารผ่านเครือข่ายโทรคมนาคม โดยเริ่มจากส่งข้อมูลผู้ป่วยด้วยการถ่ายทอดสดผ่านทางดาวเทียมในการประชุมทางไกลผ่านเครือข่าย (video conference system) ขณะตรวจอาการผู้ป่วยจากสถานีอนามัยเชื่อมไปยังเครื่องปลายทางที่โรงพยาบาลประจำอำเภอ เพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของโรงพยาบาลปลายทางได้ดูภาพลักษณะของผู้ป่วย ก่อนทำการวินิจฉัยอาการผ่านจอมอนิเตอร์อย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมกับให้คำแนะนำในการรักษากลับมายังเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย เพื่อให้การรักษาพยาบาลเป็นไปอย่างถูกต้องและถูกวิธีที่สุด
2) ระบบการปรึกษาแพทย์ทางไกล (medical consultation) เป็นระบบการปรึกษาระหว่างโรงพยาบาลชุมชนกับโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญผ่านสัญญาณดาวเทียม ซึ่งสามารถส่งได้ทั้งข้อมูล ภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง
4. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตร
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตร มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลผลิตทางการเกษตรให้กับเกษตรกรไทย ตั้งแต่การรับรู้ข้อมูลด้านการเกษตร ราคาของผลผลิตทางการเกษตร และความต้องการผลผลิตทางการเกษตรในตลาดซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการผลิตได้ดีขึ้น และสามารถผลิตได้ตรงกับความต้องการของตลาด ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านการเกษตร มีดังนี้
1) ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ (Geographic information Systems : GIS) เป็นระบบการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่ในระบบคอมพิวเตอร์ โดยข้อมูลที่จัดเก็บ เช่น ทรัพยากรดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า เป็นต้น ซึ่งสัมพันธ์กับตำแหน่งพิกัดในแผนที่ ได้แก่ ตำแหน่งละติจูด และลองจิจูด ซึ่งจะช่วยสร้างสารสนเทศที่สำคัญเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจทางการเกษตร เช่น แผนที่การตรวจสภาพความเหมาะสมในการส่งเสริมการปลูกพืชให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพการแพร่ขยายของโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงของการใช้พื้นที่ สภาพภูมิประเทศ ตลอดจนประมาณน้ำในพื้นที่ เป็นต้น
2) เว็บไซต์ที่เผยแพร่ข้อมูลทางการเกษตร ปัจจุบันมีเว็บไซต์ที่จัดเก็บข้อมูลทางการเกษตร การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ โรคระบาด การป้องกันโรคและแมลงศัตรูพืช ความรู้และอาชีพที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนการรู้จักดูแลรักษาตนให้ปลอดภัยจากโรคและสารเคมี
5. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมป้องกันและแก้ไขปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างใช้ดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติบนพื้นผิวโลกและในมหาสมุทร (earth and ocean resources satellite) มีจุดประสงค์เพื่อใช้ศึกษาธรณีวิทยา พืชพรรณ ทรัพยากรสัตว์ป่า การเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวมหาสมุทร และอื่น ๆ เพื่อนำมาใช้ในการวางแผน ป้องกัน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ
6. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านอื่น ๆ
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศด้านอื่น ๆ ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร การจัดสร้างเครือข่ายโทรคมนาคมต่าง ๆ ทั้งเครือข่ายโทรศัพท์ในประเทศ เครือข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ หรือเครือข่ายการบันเทิงต่าง ๆ เช่น การแพร่ภาพรายการโทรทัศน์ เคเบิลทีวี เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป คือ ได้มีการนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้ในหน่วยงานต่าง ๆ
เกือบทุกวงการ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปของบุคคลหรือองค์กรใด ๆ ก็ตาม
ฉะนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการศึกษาทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ในหน่วยงานด้านการศึกษาก็มีความตื่นตัวและเปิดทำการเรียนการสอนในหลักสูตรดังกล่าว
ทั้งในระดับ อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา และเป็นสาขาวิชาที่มีนักศึกษา ให้ความสนใจ
กันมากเนื่องจากยังมีตลาดแรงงานรองรับมากนั่นเอง
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น